พระช่วงเกษตรศิลปการ ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 3 เสือวงการเกษตรของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 3 ของบูรพาจารย์ที่ร่วมกันก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ พระช่วงเกษตรศิลปการ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และหลวงอิงคศรีกสิการ จนกระทั่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการเกษตรของไทยให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ และเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน
พระช่วงเกษตรศิลปการ เกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2442 ที่บ้านแช่ ตำบลพระประแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เดิมชื่อ ช่วง โลจายะ เป็นบุตรของ ร.อ. หลวงศรีพลแผ้ว ร.น. ( ขาว โลจายะ) เริ่มต้นการศึกษาระดับชั้นปฐม ก. กา ที่วัดทรงธรรม อำเภอพระประแดง จนจบชั้นประถมปีที่ 3 จึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดสุทัศน์ ( ม.1 - ม. 3 ) หลังจากนั้นจึงได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบจนจบมัธยม 8 ( พ.ศ. 2459) และเมื่อศึกษาจบแล้วได้สมัครเป็นครูสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ
หลังจากเป็นครูได้ 2 ปี ก็ได้รับทุนจากกระทรวงธรรมการ ไปศึกษาวิชาช่าง ณ ประเทศสหปาลีรัฐอเมริกา ( อเมริกา) แต่ด้วยเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่สะดวกที่จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา จึงถูกส่งให้ไปศึกษาที่ประเทศฟิลิปปินส์ และอยู่ในระหว่างสงครามทำให้สถานที่เรียนของพระช่วงเกษตรศิลปการอยู่ในสภาพทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ไม่ถูกหลักอนามัย นักศึกษาล้มเจ็บกันมาก ความทราบถึงหลวงอิงคศรีกสิการซึ่งขณะนั้นศึกษาด้านการเกษตรอยู่ที่ University of the Philoppines at Los Banos ( ปีที่ 2 ) จึงได้ชวนพระช่วงเกษตรศิลปการ ให้ไปศึกษา ณ ที่เดียวกัน จนกระทั่ง พ.ศ. 2463 ซึ่งพระช่วงเกษตรศิลปการกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 2 และสงครามโลกสงบลง รัฐบาลจึงได้ย้ายนักเรียนไทยไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยท่านได้เข้าศึกษาต่อที่ University of Wisconsin ในสาขาวิชาสัตวบาล จนกระทั่งจบปริญญาตรีและปริญญาโท ใน พ.ศ. 2467 นับเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่จบปริญญาโทด้านการเกษตร
หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว ได้เดินทางกลับประเทศไทย และเข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมบางสะพาน ซึ่งทั้งอาจารย์ทุกคนและนักเรียนในสมัยนั้นต้องทำงานอย่างหนัก ต้องช่วยกันพัฒนาสถานที่ ปลูกสร้างอาคารด้วยตนเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่มีงบประมาณสนับสนุน กล่าวโดยย่อคือ อาจารย์ต้องสอนหนังสือด้วย ทำงานทุกอย่าง เป็นกรรมกรไปด้วย จนกระทั่ง พ.ศ. 2468 ได้รับยศเป็นรองอำมาตย์เอก และพ.ศ. 2469 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงช่วงเกษตรศิลปการ ขณะที่มีอายุเพียง 27 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2475 จึงได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระช่วงเกษตรศิลปการ
ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2468 - 2475 มีเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ควรบันทึกไว้คือ พ.ศ. 2469 โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมได้ย้ายจากอำเภอบางสะพานไปอยู่ที่อำเภอทับกวาง ท่านก็ได้ย้ายตามโรงเรียนไปด้วย และไปเริ่มต้นบุกเบิกใหม่ ทำงานหนัก ทั้งสอนหนังสือและงานภาคสนาม
พ.ศ. 2470 ท่านได้ริเริ่มจัดทำหนังสือพิมพ์กสิกร ฉบับปฐมฤกษ์ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2470 โดยมี หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ โดยหนังสือเล่มนี้อยู่ยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 75 ปีแล้ว
พ.ศ. 2471 เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการศึกษาของชาติครั้งใหญ่ การศึกษาด้านการเกษตรก็ปรับเปลี่ยนไปมากเช่นกัน ในปีนี้ ท่านได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และปีเดียวกันนี้ ท่านได้สมรสกับคุณสำอางค์ ไรวา สุภาพสตรีในตระกูลคหบดี
อีก 2 ปีต่อมา คือช่วง พ.ศ. 2473 กระทรวงกลาโหมได้ขอตัวท่านไปช่วยราชการ ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกเสบียงสัตว์ และเป็นผู้อำนวยการสอนวิชากสิกรรมแก่นายทหารด้วย
พ.ศ. 2476 กระทรวงเกษตรฯ ได้ขอตัวท่านจากกระทรวงกลาโหมให้มาปฏิบัติงานในกรมตรวจกสิกรรมและได้มีส่วนอย่างมากในการบุกเบิกสร้างสถานีทดลองกสิกรรมที่แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ และในปีเดียวกันนี้เองทางกระทรวงธรรมการโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้ขอให้ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคเหนือ ที่แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่
อีก 5 ปีต่อมา โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมถูกยุบ และได้ตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นที่แม่โจ้โดยมีท่านเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัย ในขณะเดียวกันก็ได้ตั้งกองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นในกรมเกษตรและการประมงด้วย รุ่งขึ้นอีก 1 ปี คือ พ.ศ. 2482 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมเกษตรและการประมงโดยดำรงตำแหน่งนี้อยู่นานถึง 10 ปี
เหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นจาก พ.ศ. 2481 โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมถูกยุบ และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนมัธยมวิสามัญเกษตรกรรม ทำให้บรรดาคณาจารย์ ทั้งหลายที่สอนอยู่ตามโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมในที่ต่างๆต้องแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง (เช่น หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมคอหงษ์ จังหวัดสงขลา พระช่วงเกษตรศิลปการ เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่แม่โจ้ เป็นต้น) บรรดาอาจารย์ที่โอนมาสังกัดกรมเกษตร กระทรวงเกษตราธิการในช่วงเวลานี้ ได้แก่ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ หลวงอิงคศรีกสิการ อาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ เป็นต้น
ใน พ.ศ. 2482 โดยการริเริ่มของ 3 บูรพาจารย์ คือ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ พระช่วงเกษตรศิลปการ หลวงอิงคศรีกสิการ รวมทั้งบุคคลสำคัญอีกหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์จรัด สุนทรสิงห์ อาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ อาจารย์กวี วิสุทธารมณ์ เป็นต้น ได้ร่วมกันจัดตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นที่ทุ่งบางเขน โดยมีฐานะเป็นกองหนึ่งของกรมเกษตร มีอาจารย์หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจเป็นผู้อำนวยการ และอาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ เป็นรองผู้อำนวยการ อีก 2 ปีต่อมา หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมปศุสัตว์และพาหนะ อาจารย์เริ่ม บูรณฤกษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แทน ในเวลาต่อมากองวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ( ขึ้นกับกระทรวงเกษตรธาธิการ) ได้รับการยกฐานะเป็นกรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย 4 คณะ คือ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวนศาสตร์ คณะการประมงและคณะสหกรณ์ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดี มีฐานะเทียบเท่าอธิบดี
จนกระทั่ง พ.ศ. 2486 ได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2486
ในช่วงเวลาสำคัญดังกล่าวนี้ พระช่วงเกษตรศิลปการดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมเกษตรและการประมง และเป็นกำลังสำคัญในการริเริ่มก่อตั้งและเปลี่ยนแปลงวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนมาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปัจจุบัน
ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเกษตรและการประมงนั้น มีเหตุการณ์สำคัญที่ควรบันทึกไว้ ดังนี้ พ.ศ. 2489 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง 1 ปี ท่านได้เป็นผู้แทนในคณะผู้แทนไทยไปร่วมประชุมองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้สังเกตการณ์
หลังการประชุมได้แวะไปเยี่ยมสถานศึกษาเดิมคือ University of Wisconsin ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้มอบประกาศนียบัตรนักเรียนเก่าดีเด่นให้แก่ท่าน และในการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ท่านได้นำวัคซีนป้องกันโรครินเดอร์เปสต์กลับมาประเทศไทยด้วย และวัคซีนชนิดนี้เองที่ได้ช่วยป้องกันชีวิตสัตว์เลี้ยงของประเทศไทยในสมัยนั้นไว้ไม่น้อยเลย
หลังจากที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเกษตรและการประมงได้ 10 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ( กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบัน) โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ก็ได้สร้างผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหลายประการด้วยกัน อาทิ การออกพระราชบัญญัติควบคุมต้นสัก การสร้างป่าสงวนหลายแห่ง การนำปลาหมอเทศจากประเทศอินโดนีเซียมาเผยแพร่ การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปอกระเจา ในเขตพื้นที่น้ำท่วมนา เป็นต้น ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการนานประมาณ 3 ปี และดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย
ส่วนช่วงเวลาหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการแล้ว มีเกียรติประวัติและผลงานที่ควรบันทึกไว้ดังนี้ ใน พ.ศ. 2495 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการอำนวยการธนาคารเกษตรกรหรือธนาคารกรุงไทยในปัจจุบัน และใน พ.ศ. 2499 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2500
รวมระยะเวลาในการรับราชการ รับใช้บ้านเมืองตั้งแต่เริ่มเป็นครูสอนในโรงเรียนสวนกุหลาบ ( พ.ศ. 2459) จนถึงตำแหน่งสุดท้าย คือ ผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา จนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2500 เป็นเวลา 41 ปี
ด้วยคุณงามความดีของพระช่วงเกษตรศิลปการที่มีต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และวงการเกษตรของประเทศไทย ท่านได้รับพระราชทานปริญญากสิกรรมและสัตวบาลดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบรรดาศิษย์รุ่นหลังๆได้สร้างอนุสาวรีย์รูปเหมือนของพระช่วงเกษตรศิลปการเพื่อเป็นเกียรติประวัติ และเป็นที่สักการบูชาของชนชาวไทยต่อไป ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เคียงคู่กับอนุสาวรีย์ของหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และหลวงอิงคศรีกสิการ เป็นอนุสาวรีย์ 3 บูรพาจารย์ มาจวบจนกระทั่งทุกวันนี้