ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์


(ครั้งที่ 1) 30 สิงหาคม 2539 – 29 สิงหาคม 2541
(ครั้งที่ 2) 30 สิงหาคม 2541 – 29 สิงหาคม 2543
(ครั้งที่ 3) 30 สิงหาคม 2543 – 29 สิงหาคม 2545

ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2474 ที่ตำบลวชิระ อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของพลเอกหลวงเสนาณรงค์กับนางเยี่ยมจิตร (นามสกุลเดิม ดีปานวงศ์) เสนาณรงค์

เมื่อยังเป็นเด็กครอบครัวของ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ ต้องโยกย้ายติดตามหัวหน้าครอบครัวซึ่งเป็นข้าราชการทหารไปยังจังหวัดต่างๆ เสมอ ทำให้เด็กชายอำพลต้องเปลี่ยนที่เรียนไปด้วย โรงเรียนที่เรียนก็อยู่ในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ เช่น ราชบุรี นครสวรรค์ และนครศรีธรรมราช ส่วนโรงเรียนที่กรุงเทพมหานคร ที่เข้าเรียนได้แก่โรงเรียนวชิราวุธ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และจบระดับมัธยมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ความประทับใจที่มีต่อพระเอกนักกสิกรรมในภาพยนตร์เรื่อง บ้านไร่นาเรา มีส่วนทำให้ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์เลือกศึกษาในคณะกสิกรรมและสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2494 นับเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่นที่ 11

หลังจากสำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตสาขากสิกรรมและสัตวบาลศาสตร์ใน พ.ศ. 2498 แล้ว ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ สามารถสอบเข้าทำงานในกรมกสิกรรมได้เป็นอันดับที่ 1 ระหว่างการทำงานได้รับทุนของกรมไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกาถึง 2 ครั้ง 2 สาขา กล่าวคือครั้งแรกไปศึกษาสาขาพืชกรรมที่ Mississippi State University ครั้งที่ 2 ไปศึกษาสาขาปรับปรุงพันธุ์พืชและพันธุศาสตร์ที่ University of Nebraska สำเร็จการศึกษาใน พ.ศ. 2502 และ 2507 ตามลำดับ

ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ รับราชการในกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ตั้งแต่ยังเป็นกรมกสิกรรม กระทรวงเกษตราธิการ เป็นเวลาเกือบ 36 ปี ได้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่นักกสิกรรมตรีจนถึงอธิบดี ใน พ.ศ. 2535 จึงลาออกไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน

ในบรรดาผลงานด้านวิชาการและด้านการบริหารอันหลากหลาย ครั้งรับราชการที่กรมวิชาการเกษตร มีตัวอย่างที่ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ ถือเป็นความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจคือ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของข้าวโพดในประเทศไทยและเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดในข้าวโพด กล่าวคือ ใน พ.ศ. 2511 ท่านได้พัฒนาข้าวโพดพันธุ์พระพุทธบาท 5 ขึ้นจากพันธุ์กัวเตมาลาให้เป็นข้าวโพดพันธุ์ส่งเสริมพันธุ์แรกของกรมวิชาการเกษตร ข้าวโพด7พันธุ์พระพุทธบาท 5 นี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและนิยมปลูกกันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศอยู่เป็นระยะเวลานานเกือบสิบปี ทั้งยังเป็นพื้นฐานให้เกิดการพัฒนาพันธุ์อย่างต่อเนื่องสืบมา และใน พ.ศ. 2515 ท่านได้แนะนำพันธุ์ข้าวโพดหลายพันธุ์ที่สามารถต้านทานโรคราน้ำค้างได้ซึ่งช่วยให้สามารถแก้ไขโรคระบาดในข้าวโพดซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดของข้าวโพดได้อย่างทันเหตุการณ์ นอกจากนี้ยังมีงานที่ส่งผลยั่งยืนให้แก่การทำงานของกรมวิชาการเกษตรมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเกษตรแบบผสมผสาน การพัฒนาการเกษตรที่คำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การฝึกอบรมและการรณรงค์เรื่องเกษตรยั่งยืน ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 เป็นต้นมาประการหนึ่ง และการปรับปรุงและวางมาตรฐานระบบการบริหารงานวิจัย งานวิชาการ ของกรมวิชาการเกษตร ที่ปรากฏเป็นรูปธรรมให้เห็นเป็นหนังสือ คู่มือวิจัยของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2526 และเอกสาร ระบบการทำงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2529 ซึ่งนักวิชาการเกษตรใช้เป็นแม่บทมาจนถึงทุกวันนี้

ในสมัยที่ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ เริ่มเข้ารับราชการ สำนักงานของกรมกสิกรรมอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มากก็จริง (คืออยู่ที่อาคารซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ ใกล้สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) แต่เนื่องจากสถานที่ปฏิบัติงานจริงอยู่ที่สถานีเกษตรกลางบางเขนจึงได้ติดต่อใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการวิจัย กรมวิชาการเกษตรกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมกันทำการวิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2508 จนถึงปัจจุบัน โดยที่ท่านได้เริ่มทำงานวิจัยด้านข้าวโพดควบคู่กันกับ ศาสตราจารย์ ดร. สุจินต์ จินายน นอกจากนั้น ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ ยังรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษและเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้แก่นิสิตคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย

นอกเหนือไปจากความรู้ความสามารถในทางวิชาการแล้ว ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ ยังเป็นผู้ที่รักษาอุดมการณ์ในการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิตด้วยความสุจริตอย่างแน่วแน่ แม้ว่าตลอดระยะเวลารับราชการอันยาวนาน ท่านจะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายโอกาส เช่น ใน พ.ศ. 2524 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีมติมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาเกษตรศาสตร์ให้แก่ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ และเหตุการณ์ที่ยังความปลื้มปีติอย่างไม่มีสิ่งใดเสมอก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ โปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ เป็นองคมนตรีปฏิบัติงานสนองพระราชดำรินับแต่ พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา นอกจากนี้การปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มสติปัญญาและกำลังที่มีด้วยคุณธรรมและจริยธรรมยังส่งผลให้ท่านได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาเกษตรศาสตร์ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดถึงขั้นปฐมจุลจอมเกล้า

ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ มีภารกิจนานัปการทั้งในฐานะองคมนตรี ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้มีความสนใจเป็นพิเศษในโครงการและกิจกรรมทางวิชาการ การวิจัยเพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น เป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา กรรมการบริหารและรองเลขาธิการมูลนิธิอานันทมหิดล ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ กรรมการในคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประธานคณะทำงานด้านพันธุกรรมของคณะอนุกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นอาทิ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงภารกิจอันเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ มีความใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นพิเศษ คือ การดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึง 3 สมัย

ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ กล่าวถึงการทำงานในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า โดยระบบปัจจุบันสภามหาวิทยาลัยเป็นสภาที่ปรึกษาหรือสภานโยบายมากกว่ากรรมการบริหาร ท่านจึงมุ่งที่จะให้คำแนะนำ เสนอความคิดทางด้านนโยบาย เช่น การสร้างบุคลากรให้มีความรู้ มีวิชา มีปัญญา เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ ความหมั่นเพียร และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งดังจะเห็นได้จากการที่ท่านได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์ไม้ใหญ่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไว้และให้การสนับสนุนโครงการโดยต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ มีความเห็นว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องช่วยกันในเรื่องวิชาการและความรู้ ส่วนเรื่องจริยธรรมควรให้มีไปพร้อมๆ กัน ต้องบูรณาการเข้าไปทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตร เพราะทุกอย่างเกี่ยวข้องกันทั้งหมด ท่านกล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาและการผลิตบัณฑิตว่า

…ผมยึดแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ เราจะต้องศึกษาหาความรู้หาประสบการณ์ ไม่จำเป็นต้องในห้องเรียน และต้องหาไปตลอดชีวิต อยู่นิ่งไม่ได้และบางทีต้องหาด้วยตัวเองไม่จำเป็นต้องเรียนหรือจะเรียนต่อก็ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านไม่ได้ศึกษาต่อที่ไหนเลย ไม่ได้ไปเข้า short course อะไรเลย แต่พระองค์ท่านศึกษาด้วยพระองค์เองก็สามารถเป็นอัจฉริยะได้ ทุกอย่างอย่าทิ้ง การเรียนนำไปสู่บันไดขั้นที่หนึ่ง สองคือความรู้ไม่พอต้องมีคุณธรรมประจำใจด้วย คนที่มีความรู้ถ้าไม่มีคุณธรรม จริยธรรม ประจำใจจะเหมือนโจร โจรที่ฉลาดจะเป็นอันตรายมาก คุณธรรมที่สำคัญคือความซื่อสัตย์สุจริต ตอนนี้บ้านเมืองของเรามีปัญหาเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง การคอรัปชั่นมาก เราต้องช่วยกันแก้ไขให้ได้ อย่างน้อยตัวเราเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตก็ยังดี…. และมหาวิทยาลัยควรมุ่งสร้างบัณฑิตที่พร้อมจะทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมยิ่งกว่าเพื่อตนเองถ่ายเดียว..…อย่าเห็นแก่เรื่องเงินมากจนละเลยสิ่งอื่นไป ขอให้พยายามช่วยเหลือสังคม ถ้าไม่สามารถช่วยสังคมได้ทั้งหมดก็ขอให้พยายามเท่าที่เราทำได้ ต้องช่วยกันรักษาบ้านเมืองของเรา ต้องช่วยตัวเอง พยายามใช้เศรษฐกิจพอเพียง พยายามใช้ความสามารถของเรา อย่าใช้อภิสิทธิ์อะไร…

ต่อการเตรียมการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลในอนาคต ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ มีความเห็นว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ควรจะทบทวนและตรวจสอบเงินงบประมาณและต้องประหยัดอย่างจริงจังมากขึ้น ผู้บริหารทั้งหมดจะต้องเข้าใจว่าเมื่อมีรายได้เข้ามาไม่ว่าจะจากการสอนในหลักสูตรต่างๆ จากการวิจัย จากสถานที่ หรือจากการจัดงานก็ตาม ควรจะนำมารวมเข้าเป็นรายรับร่วมกันแล้วใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีหน่วยงานที่ยังพึ่งตัวเองไม่ได้อยู่ เพื่อที่มหาวิทยาลัยจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในภาพรวม โดยท่านเปรียบเทียบกับระดับประเทศว่ามีจังหวัดที่ยากจนแห้งแล้งอยู่ ถ้าแต่ละจังหวัดมุ่งแต่จะเอาตัวเองรอด ไม่ช่วยเหลือกัน ประเทศชาติก็คงไปไม่รอด เราจึงไม่ควรบริหารงานในลักษณะตัวใครตัวมัน ต้องเปลี่ยนแนวคิด ส่วนการที่จะหวังว่ารัฐบาลต้องช่วยทั้งหมดตลอดไปนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลเองก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน

เมื่อพิจารณาจากกิจกรรมและผลงานที่ ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ สร้างสรรค์แล้ว จะเห็นได้ว่าท่านเป็นนักวิชาการเกษตรที่มีความสามารถในด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์อย่างน่าประทับใจ ท่านมีผลงานเขียนทั้งภาษาไทยมากกว่า 150 เรื่อง และภาษาอังกฤษมากกว่า 30 เรื่อง เรื่องที่เขียนขึ้นในสมัยรับราชการมีเนื้อหาด้านวิชาการ ส่วนงานที่เขียนในช่วงหลังมีทั้งที่เป็นทัศนะ ข้อคิดเห็นและบทความต่างๆ ที่เป็นการนำประสบการณ์ที่ได้พบเห็นมาถ่ายทอดในลักษณะ เล่าสู่กันฟัง

ท่านสนใจวิชาประวัติศาสตร์ เห็นว่าประวัติศาสตร์มีความสำคัญในการทำงาน …ไม่ว่าจะทำอะไร เราต้องทราบอดีตก่อนจะตั้งต้นในปัจจุบันและเชื่อมโยงไปถึงอนาคต ถ้าเราไม่ทราบอดีตก็จะไปข้างหน้าโดยไม่ถูกทาง เช่น ในการวิจัยเราต้องตรวจสอบงานที่เราวิจัย ต้องรู้เรื่องราวเดิมก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร เมื่อมาเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนเริ่มทำงานแรกๆ ก็รู้เฉพาะทางด้านเกษตรก็จะแคบ ทางด้านพืชก็ยิ่งแคบเพราะหนักไปทางข้าวโพด ครั้นได้ร่วมงานกับอาจารย์ทางศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ทำให้การศึกษาเรื่องต่างๆ กว้างขึ้น… ตัวอย่างผลงานการเขียนด้านประวัติศาสตร์ของท่านได้แก่บทความเรื่อง วีรกรรมที่ปักษ์ใต้ซึ่งเป็นเหตุการณ์ส่วนหนึ่งของประวัติพลเอก หลวงเสนาณรงค์ผู้เป็นบิดา ครั้งปฏิบัติการอยู่ที่ปักษ์ใต้ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น 50 กว่าปีมาแล้ว มีการสร้างอนุสาวรีย์และมีการจัดงานวันที่ระลึกทุกปีในวันที่ 8 ธันวาคม แต่คนรุ่นหลังส่วนมากไม่ทราบเหตุการณ์ ท่านเห็นว่าการเขียนเป็นหนังสือไว้ให้คนรุ่นหลังอ่านเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

เมื่อกล่าวถึงชีวิตการรับราชการที่ผ่านมา ท่านภูมิใจที่เป็นที่ยอมรับของข้าราชการกรมวิชาการเกษตรแม้หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว …เพราะเราทำถูกต้อง เขาจึงต้อนรับ งานที่ทำไว้อย่างถูกต้องยังเป็นที่กล่าวถึง และมีผู้ยึดเป็นแบบอย่างทำตามอย่างต่อมา… ในส่วนที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านภูมิใจในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่าเป็นสถาบันที่ได้ประสิทธิ์ประสาทความรู้เป็นพื้นฐานให้สามารถทำงานและพัฒนาตนเองได้ แม้ในสมัยที่ท่านศึกษาจะเป็นเวลาที่มหาวิทยาลัยเพิ่งก่อร่างสร้างตัวก็ตาม ขณะนี้มหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้นมาก ท่านปรารถนาที่จะให้มหาวิทยาลัยมีการวางแผนที่ดีเพื่อไม่ให้มีปัญหาด้านพื้นที่ …เมื่อก่อนที่ผมเรียนอยู่ที่นี่มีคนอยู่ทั้งมหาวิทยาลัยทั้งหมดเลยประมาณ 700 ถึง 800 คน รวมทั้งพวกกระทรวงต่างๆ แล้วนะ ไม่มีรถติดเลย สภาพแวดล้อมร่มเย็นเหมือนป่า …คือหากเจริญมากเกินไปก็มีปัญหาชุมชนสังคมขึ้น …ผมเชื่อว่าอาจารย์ใหม่ๆ ในคณะคงจะต้องช่วยกัน อย่างอธิการบดีและคณะผู้บริหารเองก็มีลู่ทาง แม้ตัวผมเองก็มีลู่ทาง แต่ก็ไม่สามารถจะรอบรู้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นคณาจารย์จากทุกคณะทุกภาควิชาต้องช่วยกัน…

ในด้านครอบครัว ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ สมรสกับคุณหญิงชีวันต์ เสนาณรงค์ (สกุลเดิม ชวชาติ) ซึ่งจบการศึกษาจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใน พ.ศ. 2500 และถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ. 2545 มีบุตร 2 คน คือ นายอัคคพล เสนาณรงค์ ทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ที่กรมวิชาการเกษตร และนางสาวดนยา เสนาณรงค์ ทำงานอยู่ที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

ท่านกล่าวถึงหลักในการเลี้ยงดูบุตรและธิดาว่า …พยายามทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี แสดงความประพฤติทางการใช้ชีวิต ทางการรับราชการให้เห็น ไม่ถึงกับเข้มงวดแต่พยายามให้อยู่ในขอบเขตของครอบครัวแบบไทยๆ เพื่อที่จะให้ลูกอยู่ในระเบียบวินัย อยู่ในศีลธรรม รับราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต…

พณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ เชื่อว่าการสอนที่ดีที่สุดคือ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ดุจเดียวกันกับที่บิดามารดาของท่านซึ่งท่านกล่าวถึงไว้ว่า เป็นผู้ที่ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ร่ำรวยอะไรนัก ได้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างแก่ท่าน