อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2483 ที่บ้านแขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร บิดาชื่อ นายกฤษณา ไม้กลัด มารดาชื่อ นางปิ่น ไม้กลัด มีอาชีพทำสวน อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนโรจนนิมิต ซึ่งอยู่ในเขตราษฎร์บูรณะใกล้บ้าน ต่อมาได้ย้ายไปเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอำนวยวิทย์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงไปเข้าเรียนที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ธนบุรี และโรงเรียนอำนวยศิลป์ที่เขตพญาไท ตามลำดับ เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 แล้ว ได้เข้าเรียนที่คณะวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใน พ.ศ. 2501 จนจบปริญญาช่างชลประทานบัณฑิต (เกียรตินิยม) ใน พ.ศ. 2506
เมื่อเรียนจบแล้ว ได้เข้าทำงานที่กรมชลประทาน งานแรกคือ งานก่อสร้างเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเพิ่งจะเริ่มก่อสร้าง ทำงานอยู่เพียงประมาณ 10 เดือน ก็ได้รับทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ไปศึกษาต่อที่ University of California at Davisสหรัฐอเมริกา จบการศึกษาได้รับปริญญา Master of Engineering (Irrigation and Water Resources Engineering) และไปทำการฝึกงานจนได้รับ Certificate in Irrigation, Drainage and Ground Water Engineering จาก Bureau of Reclamation สหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงเดินทางกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2511 กลับเข้ารับราชการที่กรมชลประทานตามเดิม
ในระหว่างที่ทำงานอยู่ที่กรมชลประทานนั้น อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานในเรื่องการชลประทาน งานเขื่อน งานระบายน้ำ งานแก้ไขปัญหาน้ำเสีย งานป้องกันและบรรเทาอุทกภัย งานด้านอุทกวิทยาและจัดการทรัพยากรน้ำในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป ออสเตรเลียและเอเชีย รวมแล้วมากกว่า 20 ประเทศ ทำให้ได้รับความรู้ และประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้อย่างดียิ่ง
ในหน้าที่การงานที่กรมชลประทานนั้น ได้ประสบผลสำเร็จในโครงการต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายหลายเรื่อง ทั้งโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก แต่โครงการที่อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ภูมิใจมากที่สุดก็คือ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา มีโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำ ดิน และป่าไม้ และการทำมาหากินของราษฎร โครงการใหญ่โครงการหนึ่งที่อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด มีส่วนร่วมอย่างมาก และมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ โครงการป่าสักชลสิทธิ์ที่จังหวัดลพบุรี
จากผลงานอันมากมายที่ อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ปฏิบัติอย่างได้ผลดีเหล่านี้ ทำให้มีความก้าวหน้าในราชการเป็นลำดับ จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมชลประทานใน พ.ศ. 2540 และเป็นรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใน พ.ศ. 2542 แต่เนื่องจากตำแหน่งหลังสุดนี้ ไม่ค่อยจะตรงกับสายงานที่ต้องการจะทำ อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด จึงได้ลาออกจากราชการ และสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 ซึ่งก็ได้รับเลือกตั้งสมกับความตั้งใจ
ในส่วนที่อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ได้ทำประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น ถึงแม้ว่าจะมีภาระหน้าที่ทางกรมชลประทาน และงานอื่นๆ จนแทบจะไม่มีเวลาว่างแล้วก็ตาม อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ก็ยังช่วยราชการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างดีตลอดมา โดยได้กล่าวไว้ว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นเหมือนบ้านพ่อบ้านแม่ จึงมีความผูกพันอย่างลึกซึ้ง
นอกจากเป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาวิศวกรรมชลประทานในหลักสูตรปริญญาโทของคณะวิศวกรรมศาสตร์แล้ว อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ยังได้รับเชิญเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานทางวิชาการของคณาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาของคณะ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งคณบดี และผู้อำนวยการ สำนัก สถาบัน ตลอดจนให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเรื่องของการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำ โดยได้อนุมัติโครงการจัดสร้างอ่างเก็บน้ำในสถานีวิจัยหลายแห่ง เช่น สถานีวิจัยดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ สถานีวิจัยกาญจนบุรี และสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
จากคุณความดีที่ อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ได้สร้างให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจากผลงานอันดีเด่นต่างๆ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้มีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิศวกรรมชลประทาน เมื่อ พ.ศ. 2536 และหลังจากนั้น อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ก็ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากอีกหลายสถาบัน ดังต่อไปนี้ คือ พ.ศ. 2537 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2540มหาวิทยาลัยศรีปทุม พ.ศ. 2541 มหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล พ.ศ. 2542 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
นอกจากปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แล้ว อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ยังได้รับการยกย่องเป็นรางวัลต่างๆ อีกมากมาย อาทิ พ.ศ. 2536 บุคคลดีเด่นของชาติสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2536 นิสิตเก่าดีเด่นคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2538 นิสิตเก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พ.ศ. 2539วุฒิบัตรกิตติมศักดิ์และเข็มแสนยาธิปัตย์ วิทยาลัยกองทัพบก พ.ศ. 2540 ครอบครัวประชาธิปไตยตัวอย่าง คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ พ.ศ. 2541 นิสิตเก่าดีเด่นแห่งทศวรรษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์
ในด้านเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิทอง เหรียญรัตนาภรณ์ชั้น 3 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ มหาวชิรมงกุฎ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด มีครอบครัวที่อบอุ่น ได้สมรสกับคุณเตือนใจ จันทน์ล้ำเลิศ มีบุตรชาย 1 คน คือ นายปิตินันท์ ไม้กลัด ทำงานอยู่ที่ธนาคารกสิกรไทย และบุตรสาว 2 คน คือ นางสาวสุรังสี ไม้กลัด เป็นอาจารย์อยู่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนางสาวชไมภัค ไม้กลัด เป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เนื่องในวาระที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2546 นั้น อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด กล่าวว่ามีความภูมิใจที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีวิวัฒนาการมาได้เป็นอย่างดี สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกไปสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติและสังคมเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมต่อคณาจารย์ในทุกยุคทุกสมัยที่ได้ช่วยกันพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างทุ่มเท ในฐานะที่เป็นกรรมการสภาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้เห็นการวางแผนโครงการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่พัฒนาขยายขอบข่ายการศึกษามุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ ทั้งด้านการสอน การวิจัย และการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาวิทยาเขตกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจุดยืนของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาไปข้างหน้าทั้งสิ้น อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า หากมีส่วนช่วยในด้านใดด้านหนึ่งได้ ก็มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้ามามีส่วนช่วยอย่างเต็มที่
คติในการทำงาน
- ขยัน มุ่งมั่น ทำจริงและก็ทำให้ดีที่สุด
- ต้องรู้จริง และพัฒนาความรู้ให้ทันสมัยตลอดเวลา
- ซื่อสัตย์ สุจริต
- ประสานสัมพันธ์กับทุกคน
การปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- อาจารย์พิเศษ คณะวิศวกรรมชลประทาน หลักสูตรปริญญาโท
- ผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อพิจารณาผลงานทางวิชาการของอาจารย์ที่ขอเสนอแต่งตั้งเพื่อดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์
- กรรมการที่ปรึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (16 ตุลาคม 2549 - 16 ตุลาคม 2551)
ความภาคภูมิใจสูงสุด
การได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนกรุงเทพมหานครเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร เมื่อ 4 มีนาคม 2543 ด้วยคะแนนมากเป็นลำดับที่1 ของประเทศ จำนวน 421,515 คะแนน
ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สัมภาษณ์เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2551)
การวางแผนหรือนโยบายต่างๆต้องเน้นการพัฒนาการเรียนการสอน ให้เป็นที่ยอมรับ ผลิตบัณฑิตออกมาให้ได้คุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น เน้นปริมาณและพัฒนาคุณภาพไปพร้อมกัน ด้านวิทยาเขตทั้ง 4 ควรจะส่งเสริมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชัดเจนในนโยบายและแผนพัฒนา รวมทั้งส่งเสริมการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยมากขึ้น