ศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2478 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายย้วน และนางแดง อดุลวิทย์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทศบาล 1 และจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จากนั้นจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อเพิ่มความก้าวหน้าในชีวิต มาพักอยู่ในวัดโพธิ์ สอบเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในชั้นมัธยมศึกษา 7 และ 8 แล้วก็ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ในคณะกสิกรรมและสัตวบาล ตามความตั้งใจเดิมที่จะเรียนทางการเกษตร ศึกษาครบหลักสูตร 5ปี ได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับสอง แล้วก็ได้รับทุนจาก The Agricultural Development Council จากอเมริกา ซึ่งได้เข้ามาช่วยเหลือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการพัฒนา การเรียนและการวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่สำคัญต่อการพัฒนาเกษตรของประเทศชาติ ได้ทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ Oregon State University เมื่อจบการศึกษากลับมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร คณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ เป็นอาจารย์อยู่ประมาณ 4 ปี ก็ได้รับทุนไปเรียนต่อปริญญาเอก ทางด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรที่ Purdue University อยู่ในมลรัฐ Indiana ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อจบมาแล้วก็ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ ที่ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรเหมือนเดิม ได้ทำการสอนหลายวิชาและทำวิจัยหลายเรื่อง จนกระทั่งเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร
งานบริหารของศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ เริ่มจากการเป็นหัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร เป็นผู้อำนวยการวิจัย และประธานคณะกรรมการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คนแรก รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวางแผนพัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในที่สุด
ระหว่างที่ ศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ เป็นหัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร นั้น ได้ทำแผนพัฒนาอาจารย์ให้ได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทและเอก ประมาณ 10 คน ในสาขาต่างๆ ที่เปิดสอนทำให้ภาควิชามีความเข้มแข็งในด้านทรัพยากรบุคคล และทำให้มีการขยายรายวิชาที่สอนและการวิจัยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ริเริ่มให้มีการสอนทางด้านเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น ในรายวิชาเฉพาะสาขานี้ นับวันจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้น และได้มีการปรับปรุงชื่อภาควิชาใหม่เป็นภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร
เมื่อศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการและประธานคณะกรรมการวิจัย ได้มีการพิจารณารูปแบบของคณะกรรมการ โดยเน้นให้มีกรรมการที่เป็นตัวแทนสาขาวิชาการมากกว่าเป็นตัวแทนคณะ ทำให้การพิจารณาโครงการวิจัย และการจัดสรรงบประมาณวิจัยดำเนินไปตามความจำเป็น และความเป็นไปได้ของโครงการวิจัย นอกจากนั้นการบริหารงานวิจัยในรูปแบบคณะกรรมการไม่มีหน่วยงานที่เป็นหลัก มีสถานที่ ๆ จะบริหารงานวิจัยในรูปแบบใหม่ให้ครบวงจรหรือเต็มรูปแบบจะทำได้ยาก จึงได้พิจารณาจัดตั้ง สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น และศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ คนแรก ได้มีการปรับปรุงงานการบริหารงานวิจัยตามกลุ่มวิชาการและกลุ่มปัญหาเพื่อสนองตอบการแก้ปัญหาของชาติด้านการเกษตรมากขึ้น โครงการวิจัยแม่บทจึงเกิดขึ้น เป็นโครงการวิจัยมีหลายสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำงานด้วยกัน เป็นลักษณะสหวิชาการทำงานกันเป็นคณะ หรือที่เรียกว่า Team Work ทำให้ได้รับงบประมาณการวิจัยมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงวารสารเพื่อพิมพ์ผลงานวิชาการ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและด้านสังคมศาสตร์ ทำให้ใช้อ้างอิงทางวิชาการหรือนำไปประกอบการขอตำแหน่งทางวิชาการและเป็นที่ยอมรับจากทบวงมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและพัฒนาฯ มีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ และคงเป็นหลักทางงานวิจัยและงานเผยแพร่วิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาจนทุกวันนี้
เมื่อศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุล เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใน พ.ศ. 2529 และเป็นอยู่สามสมัย ศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวางแผนพัฒนาในสมัยแรก และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายบริหารในสมัยที่สองและที่สาม ในการวางแผนพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะเวลาดังกล่าว ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุล นอกจากงานการพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการและการวิจัยแล้ว ก็คือ การแก้ไขปัญหาเรื่องงบประมาณที่มีการเพิ่มขึ้นแต่ละปีน้อยมาก และฐานของงบประมาณก็ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ปัญหาเรื่องงบประมาณได้รับการปรับปรุงแก้ไขและได้งบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนั้นได้มีการพัฒนาทางด้านกายภาพของวิทยาเขตให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น มีการตัดถนนใหม่จากประตูวิภาวดีผ่านด้านเหนือของโรงเรียนสาธิตไปต่อกับถนนสุวรรณวาจกกสิกิจ และมีแผนที่จะตัดถนนต่อออกถนนพหลโยธิน ซอย 45 นอกจากนั้นมีการปรับปรุงวิทยาเขตให้มีเขตการเรียนการสอน การวิจัย การกีฬา เป็นต้น ส่วนวิทยาเขตศรีราชาพื้นที่เป็นไร่ฝึกงานนิสิต ทางส่วนปกครองท้องถิ่นเรียกร้องขอพื้นที่ดังกล่าวเพื่อนำไปทำประโยชน์อย่างอื่น แต่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุล ก็ได้ชี้แจงกับคณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบและได้มีมติให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใช้ประโยชน์ต่อไป และให้ถือเป็นทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สมัยที่ศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ เป็นอธิการบดีต่อจากท่าน ศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุล ใน พ.ศ. 2535 มีโอกาสได้สานงานเดิมที่ได้วางรากฐานไว้แล้วให้เสร็จสมบูรณ์ขึ้น ในขณะเดียวกันก็ได้ริเริ่มงานใหม่หลายเรื่อง ประการแรกคือเรื่องงบประมาณ ได้ดำเนินการต่อจนทำให้มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณเพิ่มแบบก้าวกระโดด ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถมีสิ่งก่อสร้างและอาคารที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนของคณะต่างๆ และการวิจัยของสถาบันวิจัยต่างๆ การบริการทางวิชาการของส่วนกลาง รวมถึงโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงดังกล่าวภาวะเศรษฐกิจของบ้านเมืองอยู่ในเกณฑ์ที่นับว่าดีมาก ทำให้เรามีอาคารต่างๆ ที่วิทยาเขตครบสมบูรณ์ ที่สำคัญอีกอาคารหนึ่ง คือ อาคารศูนย์สารนิเทศ เพื่อเฉลิมฉลองมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครบ 50 ปี ก็ได้ดำเนินงานในช่วงเดียวกันนี้ด้วย อีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะกล่าวถึง คือ เมื่อเราจัดให้มีศูนย์หนังสือ สมัยอธิการบดีศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุล ในสมัยศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ ก็จัดตั้งสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้น และจัดให้มีกองทุนหมุนเวียน 1 ล้านบาท เพื่อให้อาจารย์ขอยืมไปลงทุนในการเขียนตำรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเกษตรใฝ่ฝันหามานานแล้ว สำนักพิมพ์ดังกล่าวมีความเจริญก้าวหน้า ได้พิมพ์ผลงานที่เป็นตำราและงานทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาเป็นลำดับ นับได้ว่าเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจ
วิทยาเขตกำแพงแสนก็ได้รับการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนและที่พักอาศัยของนิสิตและ อาจารย์ ข้าราชการ หอพักนิสิตได้เพิ่มขึ้นหลายหลัง รวมถึงการปรับปรุงหอพักเดิมให้ดีขึ้น บ้านพักอาจารย์ ข้าราชการ ได้เพิ่มขึ้นอีกหลายหน่วย ทำให้ปัญหาที่พักอาศัยเกือบจะหมดไป สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการกีฬา ศูนย์เรียนรวม ศูนย์มหาวิทยาลัย รวมถึงอาคารสำนักหอสุมด โดยเฉพาะคณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะเกษตรที่วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รับการสนับสนุนในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านการเรียนการสอนและการวิจัยเป็นอย่างมาก
วิทยาเขตศรีราชาก็ได้รับงบประมาณในการพัฒนาให้เป็นวิทยาเขตเพิ่มมากขึ้น ในระยะหลังนี้วิทยาเขตศรีราชาก้าวหน้าไปมากเป็นวิทยาเขตที่สมบูรณ์ ส่วนวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นในสมัยช่วงท้ายของการเป็นอธิการบดีของศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ เป็นวิทยาเขตแรกที่ดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาคและตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นับได้ว่าเป็นวิทยาเขตที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ
เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการสถาปนามาเป็นเวลา 50 ปี ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 ก็ได้จัดงานเฉลิมฉลองที่เรียกว่า สุวรรณสมโภชน์ (Kasetsart Golden Jubilee) ขึ้น ในโอกาสนี้ได้มีการสร้างวัตถุมงคลและวัตถุถาวรหลายอย่างด้วยกัน
ประการแรกได้มีการสร้างพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยซึ่งไม่เคยมีมาก่อน มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้าง พระพุทธชินสีห์จำลอง ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเกษตรกลางบางเขน พระพุทธรูปดังกล่าวได้อัญเชิญขึ้นประทับบนฐานชุกชีที่ประดับด้วยหินอ่อน ณ อาคารพุทธเกษตร ทำให้ชาวเกษตรมีพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย และมีโอกาสได้สักการะบูชาและเป็นมงคลตลอดกาลนาน นอกจากนั้นยังมีการสร้างวัตถุมงคล พระบูชา พระกริ่ง และพระชัยวัฒน์ อีกเป็นจำนวนมาก สำหรับผู้สนใจนำไปบูชา
นอกจากอาคารสารนิเทศ 50 ปี แล้ว ยังมีการก่อสร้างรูปหล่อพระพิรุณทรงนาค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย แต่ไม่เคยมีรูปหล่อสัญลักษณ์ดังกล่าว ณ ที่ใดเลย จึงได้มีการก่อสร้างรูปหล่อพระพิรุณทรงนาค 2 ชุด ชุดหนึ่งมีขนาดเท่าคนจริง ประดิษฐานอยู่ที่หน้าตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ ส่วนชุดที่สองมีขนาดสองเท่าคนจริงประดิษฐานอยู่ที่สระน้ำที่วิทยาเขตกำแพงแสน พระพิรุณทรงนาค ดังกล่าวมีความสวยงามมากทีเดียว
นอกจากนั้นยังมีการจัดให้มีการประชุมนานาชาติอีกด้วยที่เรียกว่า Kasetsart Golden Jubilee International Convention โดยเชิญผู้แทนจากองค์การต่างประเทศและผู้แทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาร่วมประชุม โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับ การร่วมมือทางวิชาการ ความก้าวหน้า อุปสรรค และยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ
เรื่องหนึ่งที่ศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ มีความภูมิใจก็คือ การจัดตั้งกองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ขึ้น โดยได้จากการบริจาคในการจัดรายการทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัย และมีผู้บริจาคพอสมควร และมีการจัดรายการโทรทัศน์เรื่อยมา กองทุนนี้มหาวิทยาลัยได้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอาจารย์
ในด้านผลงานวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ มีงานอยู่ 2 เรื่องที่เป็นผลงานวิจัยริเริ่มใหม่ที่ได้รับการอ้างอิงมากพอสมควรในสมัยนั้น โดยได้ทำการวิจัยร่วมกับศาสตราจารย์ Pan A. Yotopoulos และ Larry Lau แห่ง Stanford University เรื่องแรกคือ A Micro-economic Analysis of Agriculture in Thailand จัดพิมพ์โดย Food Research Institute, Stanford University งานวิจัยเรื่องนี้เป็นการใช้หลักของทฤษฎี Duality กับการวิเคราะห์งานฟาร์ม โดยทำให้สามารถสร้างและประมาณค่าสมการ อุปทาน ผลผลิต และสมการอุปสงค์ของปัจจัยการผลิตไปพร้อมกัน และอีกเรื่องหนึ่งคือ การวิจัยพฤติกรรมของครอบครัวเกษตรกร ซึ่งเป็นงานบุกเบิกใหม่ที่ได้รับการกล่าวถึงและอ้างอิงด้วยเช่นกัน คือ The Comparative Statics of the Behavior of Agricultural Households in Thailand งานวิจัยเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน Singapore Economic Reviews นอกจากงานทั้ง 2 เรื่องนี้แล้วยังมีผลงานทางวิชาการอีกประมาณ 50 เรื่อง
ศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ ได้รับรางวัลวิจัยในการประชุมทางวิชาการประจำปีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2526 เรื่อง Production Technology and Economic Efficiency of Thai Coastal Fishermen. และได้รับเกียรติและรางวัลอีกมากมายคือ พ.ศ. 2516 Visiting Research Scholar ของ Food Research Institute, Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2517 Senior Fellow ของ Food Institute, East-West Center, Hawaii ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2519-2539 กรรมการที่ปรึกษา Regional Research Institute of Agriculture in the Pacific Basin (RRIAP), Nihon University, Tokyo ประเทศญี่ปุ่นพ.ศ. 2534-2544 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (External Assessor) พิจารณาผลงานเพื่อเลื่อนเป็นรองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ของ Pertanian University ประเทศมาเลเซีย พ.ศ. 2535-2538 President ของ Association of Agricultural Colleges and Universities พ.ศ. 2535-2539 กรรมการศูนย์วิจัยพืชผักแห่งเอเชีย (AVRCD, Taiwan) พ.ศ. 2536 ได้รับปริญญาวิทยาศาสตรการเกษตร ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก Tokyo University of Agriculture ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2536 ศิษย์เก่าดีเด่นคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2536 ได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ สมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2536 ได้รับรางวัลครุฑทองคำในฐานะผู้บริหารราชการพลเรือนดีเด่นจากสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2538 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติยศ (Honorary Professor) ประจำ Beijing Agricultural University (China Agricultural University) พ.ศ. 2539 ได้รับประกาศเกียรติคุณเป็น นักบริหารดีเด่น ประจำปี 2538 ของมูลนิธิเพื่อสังคมไทย ร่วมกับหนังสือพิมพ์เส้นทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2539 รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นของ Purdue University, U.S.A. พ.ศ. 2541 รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราชในโอกาสที่โรงเรียนจัดงานฉลองครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้ง
ในด้านเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น ศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ ได้รับพระราชทาน คือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก มหาวชิรมงกุฎ และเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 4
ศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ มีหลักในการทำงานดังนี้ คือ หนึ่ง เราต้องมีความตั้งใจจริง รักที่จะทำงานและอยากจะทำงานให้ดีที่สุด ให้ได้บรรลุผลสำเร็จ สอง ต้องอดทนอดกลั้นให้มากที่สุด สาม จะต้องรู้จักเสียสละและซื่อสัตย์สุจริต อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน สี่ จริงใจในการทำงานและจริงใจกับเพื่อนร่วมงานทุกระดับ ห้า สร้างความเข้าใจและทำความรู้จักกับเพื่อนฝูง ผู้ร่วมงาน ลูกน้อง และบุคคลอื่นๆ อย่างถ่องแท้ หก ยึดหลักเมตตาธรรมอย่ายึดเอาแต่ระเบียบวินัยมาเป็นเกณฑ์ในการปกครองจนเกินไป ต้องใจเย็นและใจดี เจ็ด ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อย่าเผด็จการ และสุดท้าย อย่าทำเพื่อความถูกใจของตนเองแต่ทำเพื่อความถูกต้อง อันสุดท้ายนี้แหละที่มักจะก่อให้เกิดปัญหากับผู้ที่มีอำนาจทั้งหลายที่เอาแต่ใจตัวเป็นใหญ่
ศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ สมรสกับ ดร. พัชรประภา อดุลวิทย์ (นามสกุลเดิมแพรัตกุล) เป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชาภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีบุตรชายชื่อ นายพชรพล อดุลวิทย์ กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี่ที่สาม คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบุตรสาวชื่อ น.ส. พิชามญชุ์ อดุลวิทย์ กำลังศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ศาสตราจารย์ ดร. กำพล อดุลวิทย์ ยังช่วยงานของทบวงมหาวิทยาลัยที่สำนักงานโครงการเงินกู้ และเป็นกรรมการที่ปรึกษาและประธานคณะทำงานด้านการตลาดของมูลนิธิโครงการหลวงอีกด้วย